เรื่อง การวิจัยเชิงผสานวิธี (Mixed Method)
วันที่จัดกิจกรรม วันพุธ ที่ 3 เมษายน 2562 เวลา 13.00 – 16.00 น.
สถานที่จัดกิจกรรม ห้อง KM Room ชั้น 3 คณะวิทยาการจัดการ
ผู้นำการแลกเปลี่ยน รองศาสตราจารย์ ดร.ปาจรีย์ ผลประเสริฐ
ทำไม?…จึงเรียกว่า… การวิจัยเชิงผสานวิธี (Mixed Method)
สำหรับผู้ที่ผ่านการทำวิจัยมานับไม่ถ้วน ทั้งในแบบเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพและเชิงผสานวิธี โดยเฉพาะการผสานวิธีที่เราอาจเกิดความสับสนว่ากระบวนการออกแบบนั้นถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความกระจ่างกับข้อสงสัยต่างๆ จึงขอรวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเชิงผสานวิธี หรือ Mixed Method กันดีกว่า
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า….การวิจัยเชิงผสานวิธี…คืออะไร?
การวิจัยเชิงผสานวิธี เป็นการรวมการวิจัย เชิงคุณภาพ (Qualitative Method) และเชิงปริมาณ (Quantitative Method) เข้าด้วยกัน โดยเทคนิคการวิจัยที่ต้องมีทั้งสองรูปแบบและต้องมีการผสมผสานทางใดทางหนึ่งในกระบวนการวิจัย
รูปแบบการวิจัยเชิงผสานวิธี มีกี่รูปแบบ ?
- การวิจัยแบบพร้อมกัน (Convergent Parallel Design) เป็นการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพพร้อมกันกับเชิงปริมาณ โดยให้ความสำคัญการวิจัยทั้งสองแบบเท่าเทียมกัน และนำผลมารวมกันในช่วงการแปลผล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องหรือทำให้ผลการวิจัยสมบูรณ์มากขึ้น
- การวิจัยแบบขั้นตอนเชิงอธิบาย (Explanatory Sequential Design) เป็นการวิจัยที่แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ช่วงแรกเป็นการวิจัยเชิงปริมาณก่อนเพื่อตอบปัญหาการวิจัย และต่อด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อช่วยในการอธิบายผลให้กระจ่างยิ่งขึ้น
- การวิจัยแบบขั้นตอนเชิงสำรวจ (Exploratory Sequential Design) เป็นการวิจัยที่แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ช่วงแรกเป็นการวิจัยเพื่อสำรวจข้อมูลโดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ และนำผลมาต่อด้วยด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อยืนยันและสามารถนำผลไปใช้ในวงกว้าง
- การวิจัยแบบรองรับภายใน (Embedded Design) เป็นการวิจัยที่มีการวิจัยย่อยเป็นเชิงคุณภาพหรือ
เชิงปริมาณภายในการวิจัยหลักไม่ว่าจะเป็นเชิงคุณภาพหรือเชิงปริมาณเพื่อให้การวิจัยไปสนับสนุนการวิจัยหลักให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
- การวิจัยแบบปฏิรูป (Transformative Design) เป็นการวิจัยด้วยวิธีวิจัยหนึ่งแล้วต่อด้วยอีกวิธีหนึ่งแบบไหนก่อนก็ได้อย่างอิสระมักเป็นการศึกษาในกลุ่มประชากรที่ยากต่อการเข้าถึง
- การวิจัยแบบหลายช่วง (Multi-phase Design) มีทั้งแบบเป็นขั้นตอนและแบบพร้อมกัน เพื่อตอบปัญหาการวิจัยอย่างเป็นระบบสำหรับโครงการวิจัยขนาดใหญ่
การผสานวิธีสามารถผสานกันตรงไหนได้บ้าง?
- ผสมในช่วงการแปลผล โดยการนำผลที่วิเคราะห์ได้มาสนับสนุน อธิบายความ หรือผนวกกัน
- ผสมในช่วงการวิเคราะห์ผล นำผลของการวิจัยทั้งสองรูปแบบมาวิเคราะห์ผลด้วยกัน หรือเปรียบเทียบกันเพื่อวิเคราะห์
- ผสมในช่วงการเก็บข้อมูล เป็นการใช้ผลจากการวิจัยหนึ่งมาส่งผลต่อการเก็บข้อมูลของการวิจัยต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งปัญหาการวิจัย การเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัย และการใช้เครื่องมือเก็บข้อมูล
- ผสมในช่วงการออกแบบการวิจัย เป็นการผสมการวิจัยเพื่อใช้ออกแบบการวิจัยขนาดใหญ่ เช่น การใช้การวิจัยเชิงคุณภาพผสมเพื่อออกแบบการวิจัยเชิงปริมาณรูปแบบทดลอง เป็นต้น