Knowledge-Management-1
         การจะใช้เครื่องมือการวิจัยแบบใดขึ้นอยู่กับว่า ผู้วิจัยทำวิจัยประเภทใด ทั้งนี้ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงบรรยาย งานวิจัยเชิงเปรียบเทียบ งานวิจัยเชิงหาความสัมพันธ์ หรืองานวิจัยเชิงหาสาเหตุ ผู้อ่านจะพบว่า งานวิจัยเหล่านี้ มักนิยมใช้เครื่องมือในการวิจัยเพียง 4 ชนิด คือ
  1. แบบสอบถาม
  2. แบบสัมภาษณ์
  3. แบบสังเกต
  4. แบบทดสอบ

แบบสอบถาม

หลักการในการสร้างแบบสอบถาม

  1. สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย
  2. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเหมาะสมกับผู้ตอบ เช่น ถ้าผู้วิจัยต้องการถามว่า “อัตลักษณ์ที่ดีของเยาวชนไทย ควรเป็นอย่างไร” ในการสอบถามกับเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาจะเห็นว่า คําว่า “อัตลักษณ์” นี้ค่อนข้างเป็นคําที่เข้าใจยากสําหรับเด็กในระดับนี้ดังนั้น ผู้วิจัยอาจปรับการใช้ภาษาใหม่เป็น “ลักษณะเฉพาะตัวที่ดีของเยาวชนไทย ควรเป็นอย่างไร”
  3. ใช้ข้อความที่สั้นกะทัดรัดได้ใจความเช่น ถ้าผู้วิจัยต้องการถามว่า “ในยุคปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีการป้องกันโรคที่ได้รับการรับรองแล้วว่า ได้ผลดีสามารถป้องกันโรคได้จริง คือ …………………… “ จะเห็นว่าเป็นข้อคําถามที่ค่อนข้างใช้ภาษาฟุ่มเฟือยมาก ดังนั้นผู้วิจัยอาจปรับการใช้ภาษาใหม่เป็น “วิธีการป้องกันโรคแบบใหม่ที่ได้รับการรับรองแล้วว่าได้ผลคือ …………………………….”
  4. แต่ละข้อคําถาม ควรมีนัยเพียงประเด็นเดียว กล่าวคือ  ไม่ใช่ประธาน หรือกรรมมากกว่าหนึ่งเช่น ถ้าผู้วิจัยต้องการถามว่า “ท่านเห็นด้วยมากน้อยเพียงใดต่อนโยบายการปรับโครงสร้างระบบราชการที่เน้นการมีจํานวนข้าราชการน้อยลงและมีการให้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น” จะเห็นว่าถ้าผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่า “เห็นด้วยมากที่สุด” ผู้วิจัยก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าผู้ตอบแบบสอบถามนี้เขาเห็นด้วยมากที่สุดกับประเด็น “การมีจํานวนข้าราชการน้อยลง” หรือประเด็น “มีการให้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น” ดังนั้น เพื่อให้สามารถได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน ผู้วิจัยควรแยกถามทีละประเด็น ๆไป
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ประโยคปฏิเสธซ่อน
    เช่น ถ้าผู้วิจัยถามว่า “เมื่อออกกําลังกายเสร็จแล้วดื่มน้ำทันทีเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องใช่หรือไม่” จะเห็นว่าเป็นการเพิ่มความซับซ้อนของตัวคําถาม ซึ่งจะทําให้ผู้ตอบต้องใช้เวลาในการพิจารณามากขึ้นโดย   ไม่จําเป็น และมีโอกาสผิดพลาดจากความเข้าใจที่แท้จริงได้ง่าย ในที่นี้ผู้วิจัยอาจปรับการใช้ภาษาใหม่เป็น “เมื่อออกกําลังกายเสร็จแล้วดื่มน้ำทันทีเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องใช้หรือไม่”
  6. ไม่ควรใช้คําย่อ
    เช่น ถ้าผู้วิจัยใช้คําว่า ศธ. ก็ค่อนข้างจะเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยดีเฉพาะในวงการศึกษา แต่สําหรับคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกวงการนี้แล้วก็มักจะไม่รู้จักคําว่า ศธ. ดังนั้น ผู้วิจัยควรใช้คําเต็มว่า “กระทรวงศึกษาธิการ” ไปเลย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ตอบแบบสอบถามเข้าใจง่ายและไม่ต้องเสียเวลาในการแปลความหมายของคําย่อนั้น ๆ
  7. หลีกเลี่ยงการใช้คําที่เป็นนามธรรมมากเกินไป
    เช่น ดี – เลว เหมาะสม –ไม่เหมาะสม งดงาม – ไม่งดงาม เป็นต้น เนื่องจากคําในลักษณะเหล่านี้ผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคนค่อนข้างมีมาตรฐานในการตัดสินที่แตกต่างกันไป ทําให้ข้อคําถามนั้นไม่มีความเป็นปรนัย
  8. ไม่ชี้นําการตอบให้เป็นไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
    เช่น ถ้าผู้วิจัยถามว่า “ท่านไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการใช่หรือไม่” จะเห็นว่า เป็นการชี้นําการตอบไปในแนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งดังกล่าว ดังนั้น ผู้วิจัยอาจปรับภาษาใหม่ให้อยู่ในลักษณะกลาง ๆ เป็น “ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการ”
  9. หลีกเลี่ยงคําถามที่ทําให้ผู้ตอบเกิดความลําบากใจที่จะตอบ
    เช่น ถ้าผู้วิจัยถามว่า “คุณเคยนอกใจคู่ครองของคุณหรือไม่” ผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะตอบว่า ไม่เคย เพราะการนอกใจคู่ครองเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักศีลธรรม เพื่อเป็นการปกป้องตนเองในการที่จะถูกมองว่า เป็นคนไม่ดีจึงตอบว่าไม่เคยเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเขาเคยนอกใจคู่ครองของเขา  เป็นต้น
  10. คําตอบที่ให้เลือกตอบนั้นจะต้องชัดเจน และครอบคลุมคําตอบที่เป็นไปได้เช่น ถ้าผู้วิจัยถามว่า ท่านมีประสบการณ์การทํางานในตําแหน่งนี้กี่ปี ตัวเลือก คือ 1) 1 – 5 ปี 2) 6 – 10 ปี   3) 11 – 15 ปี   จะเห็นว่า ถ้าผู้ตอบแบบสอบถามมีประสบการณ์การทํางานฯ 17 ปี ก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจะต้องหาคําตอบเพื่อให้ครอบคลุมการตอบโดยอาจเพิ่มตัวเลือกอีกข้อเป็น “มากกว่า 15 ปี” เป็นต้น
  11. 11. หลีกเลี่ยงการใช้คําที่สื่อความหมายได้หลายอย่าง
    เช่น ถ้าผู้วิจัยถามว่า “ท่านออกกําลังกายกี่ชั่วโมง” ผู้ตอบแบบสอบถามอาจสื่อความหมายได้ว่า เป็นการถามในเฉพาะวันใดวันหนึ่ง เฉลี่ยต่อวัน เฉลี่ยต่อสัปดาห์หรือเฉลี่ยต่อเดือน เป็นต้น ดังนั้น ผู้วิจัยควรปรับคําถามให้เฉพาะลงไปเลยว่า เป็นการออกกําลังกายโดยเฉลี่ยต่อวัน หรือเฉลี่ยต่อทุกครั้งที่ออกกําลังกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง